เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 2 ก.ค. 61 สำหรับภารกิจค้นหา 13 ชีวิตติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เข้าสู่วันที่ 9 แล้วเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยยังทำทุกวิถีทางอย่างเต็มกำลัง แข่งกับเวลาที่มีค่าทุกวินาที ด้วยมีความหวังว่าทั้ง 13 คน ต้องรอด ภารกิจหนึ่งในการค้นหาที่น่าเป็นห่วง คือ การดำน้ำในถ้ำมืดติดต่อกันหลายวันในน้ำอุณหภูมิ 22 องศาฯ อากาศอับชื้น ร่างกายของหน่วยซีล นักประดาน้ำ ได้รับผลกระทบอย่างไร

นาวาเอกคมสัน วุฒิประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ใต้น้ำ กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ ซึ่งปฏิบัติภารกิจที่ถ้ำหลวง เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์เมื่อเวลา 15.00 น. ว่า การดำน้ำในถ้ำที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 433 เมตร (ปากถ้ำ) ครั้งนี้ถือว่าเป็นการดำน้ำในแหล่งน้ำที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกินกว่า 300 เมตรขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรค จากการดำน้ำได้ง่าย แม้ความลึกของการดำน้ำในถ้ำไม่เกิน 10 ม. ประมาณ 3-5 ม. ซึ่งถือว่าเป็นการดำน้ำตื้น

แต่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคจากการดำน้ำ คือ เนื่องจากระยะเวลาที่ดำนาน วันหนึ่งดำหลายครั้ง บางคนอาจคิดว่าดำตื้นไม่น่าจะเกิดโรคจากการดำน้ำ แต่การเดี๋ยวลงดำ เดี๋ยวโผล่ขึ้นผิวน้ำ จะทำให้เกิดโรคจากการลดความกดอากาศ (Decompression sickness) หรือการเมาความกดอากาศ หรือที่เรียกว่า น้ำหนีบ น้ำบีบ น้ำหีบ น็อกน้ำ เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายได้รับไนโตรเจน (ก๊าซเฉื่อย 80% ผสมกับออกซิเจน 20% ที่บรรจุในถังดำน้ำ) จากการดำน้ำเป็นเวลานานๆ จนทำให้เกิดฟองก๊าซกระจายและอุดตันในเส้นเลือดของอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย

ซึ่งอาการที่จะเกิดการปวดตามข้อหรือกล้ามเนื้อ อันเนื่องมาจากการขึ้นสู่ผิวน้ำกะทันหัน หากมีอาการที่รุนแรง เกิดฟองน้ำอุดตันที่หลอดเลือดสมองและไขสันหลัง จะมีเรื่องของระบบประสาทเข้ามาเกี่ยวข้องได้แก่ อาการปวดร่วมกับการชา ตามผิวหนัง ร่างกาย หรือการอ่อนแรงของแขน ขา ภาวะรู้ตัวลดลง สับสน คิดช้า เบลอ มึน จนส่งผลต่อชีวิต หรืออาการอัมพฤกษ์อัมพาตได้ในที่สุด