เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เชื่อว่าใครๆก็ฝันว่าจะมีบ้านเป็นของตัวเองสักวันนึง แต่ใครจะรู้ว่ามันลำบากมากถ้าเป็นเมืองไทยเรา  รัฐบาลสานฝันให้ผู้มีรายได้น้อย ได้มีบ้านที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง จะประสบความสำเร็จ ขยายวงกว้าง ทำให้คนจนเข้าถึงสินเชื่อบ้านได้มากน้อยเพียงใด? ก็ต้องติดตามดู

เพราะที่ผ่านมาคนเหล่านี้มักถูกปฏิเสธจากแบงก์จนชินชา ด้วยข้อจำกัดความสามารถในการซื้อบ้านในเรื่องรายได้ จนต้องพับแผนความฝันอยากมีบ้านในที่สุด

ส่วนมนุษย์เงินเดือน แม้สามารถกู้ซื้อบ้านได้ แต่ต้องมีภาระในการผ่อนเป็นระยะเวลายาวนาน หากไม่มีเงินก้อนมาโปะ กว่าจะหมดหนี้ก็ใกล้เกษียณอายุสำหรับหลายๆ คน โดยรู้หรือไม่ว่า ดอกเบี้ยที่จ่ายไป เมื่อรวมแล้วมากกว่าราคาบ้านเกือบเท่าตัวทีเดียว

ด้าน ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยกู้บ้าน โดยเฉลี่ยของเยอรมนี คือ 1% และของสวีเดน 2% ขณะที่ไทยโดยเฉลี่ยคือ 12% ยกเว้นลูกค้า AAA อาจ 4-6% แต่มีเป็นส่วนน้อยในสังคมไทย ดังนั้นหากคนซื้อบ้านในราคา 3 ล้าน ผ่อนระยะ 30 ปี เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้ว ราคาที่ซื้ออาจถึง 7 ล้านบาท ส่วนคนเยอรมนี ซื้อในราคา 3.3 ล้านบาท สำหรับการผ่อน 30 ปีเท่ากัน

“ทำให้กลุ่มทุนธนาคารรวยมากขึ้น แต่คนไทยจนลงและเป็นหนี้มากขึ้น ทั้งๆ ที่เราเป็นหนึ่งในชนชาติที่ทำงานหนักที่สุดในโลก ด้วยค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานสูงลิ่ว”

พร้อมบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก โดยลูกหนี้ชั้นดีซึ่งมีเป็นส่วนน้อยในกลุ่มคนมีรายได้ประจำ คนมีเงินเดือน สามารถซื้อทรัพย์สินได้พร้อมกับดอกเบี้ยที่ถูก เป็นภาพสะท้อนว่าคนซื้อบ้านมือสอง หรือบ้านในต่างจังหวัด ได้เงินกู้ไม่เต็ม 100% และยังต้องเสียดอกเบี้ยที่สูงกว่า เฉลี่ย 9-12% ไม่สามารถลดต้นลดดอกได้ เพราะรายได้มีจำกัด และยังไม่รวมค่าปรับที่จะตามมาหากผ่อนชำระไม่ตรงกำหนด ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายประจำ เป็นอีกสิ่งหนึ่งทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนสูง

ส่วนข้อเสนอเรื่องสิทธิเรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นทางออกของรัฐบาล เห็นว่าแทนที่จะออกนโยบายเรื่องโครงการบ้านต่างๆ ทั้งบ้านการเคหะฯ หรือบ้านประชารัฐ ซึ่งสวัสดิการมีค่อนข้างจำกัด ควรออกมาตรการควบคุมดอกเบี้ยบ้านให้ถูกเท่าๆ กัน อย่างประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ให้เกิน 4% ตลอดอายุสัญญากู้บ้าน ซึ่งเป็นสิทธิเรื่องสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยไม่สูงที่คนไทยควรเข้าถึงได้ทุกคน โดยทางออกมีหลายแบบ

ยกตัวอย่างเยอรมนี ดอกเบี้ยบ้านต่ำ แต่คนส่วนใหญ่เลือกจะเช่าบ้านมากกว่าซื้อบ้าน เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ดังนั้นรัฐบาลไทยควรหามาตรการลดการเก็งกำไรของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ พร้อมวางมาตรการให้คนเข้าถึงบ้านที่อยู่อาศัยให้ง่ายขึ้น

“กรณีคนซื้อบ้านของไทย สมมติผ่อนบ้านเดือนละ 2 หมื่น ซื้อบ้านราคา 3 ล้าน เมื่อรวมดอกเบี้ยก็เท่ากับ 7 ล้าน มันแพงมาก แตกต่างกับสวีเดน ผ่อนเท่ากัน 2 หมื่น แต่ได้บ้านคุณภาพสูงกว่า ผมคิดว่าเรื่องนี้แก้ไขได้ง่ายมาก เพราะทุกวันนี้คนไทย 10 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อบ้านได้ แทนที่แบงก์ชาติจะกลัวคนเป็นหนี้มาก แต่ควรพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยให้ต่ำลงกว่า 15-18% ต่อปี ทำเป็นมาตรการถาวรให้ดอกเบี้ยบ้านไม่สูง ตลอดอายุสัญญากู้เงิน หรือกำหนดเพดานราคาบ้าน ให้ดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 4-5% หรือควรมีดอกเบี้ยเท่าไร ตลอดสัญญา”

นอกจากนี้มองว่าระยะเวลาผ่อนบ้านที่ยาว อาจทำให้คนรู้สึกแบบอนุรักษนิยม จนไม่อยากเปลี่ยนงาน ต้องผ่อนบ้านไปและท้ายสุดก็ให้ลูกหลาน ดังนั้นถ้าระยะเวลาในการผ่อนสั้นลง และดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินไป ก็จะสามารถทำให้เกิดความสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงภาษีที่ดิน เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาบ้านไม่สูงขึ้น เหมือนปัจจุบันที่บ้านอยู่ในทำเลเดียวกัน แต่กลับมีราคาที่แตกต่างกันเพราะกลุ่มนายทุนเก็งกำไร.