เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

แม้อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) หรือการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นตามหลังเหตุแผ่นดินไหวจะเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในบริเวณใกล้เคียงจุดเกิดเหตุ แต่ล่าสุดนักธรณีวิทยาต้องประหลาดใจ เมื่อพบว่าเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงแต่ละครั้งสามารถส่งคลื่นสะเทือนที่ทำให้เกิดการสั่นไหวได้ไกลถึงอีกซีกโลกหนึ่ง ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตทของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวลงในวารสาร Nature Scientific Reports โดยระบุว่าได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวย้อนไปในอดีตตลอด 44 ปีที่ผ่านมา และพบว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 6.5 ขึ้นไป มักมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 5.0 หรือรุนแรงกว่าตามมาในอีกฝั่งหนึ่งของโลก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 2-3 วันให้หลัง

ดร. โรเบิร์ต โอมัลลีย์ ผู้นำทีมวิจัยระบุว่า “แผ่นดินไหวเป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่แผ่นเปลือกโลกสะสมแรงเค้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรอยเลื่อนที่แผ่นเปลือกโลกมาบรรจบกันใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของวงจรนี้ แรงเค้นจะเพิ่มสูงจนถึงจุดที่ต้องปลดปล่อยออกมาและเกิดแผ่นดินไหวได้”ภาพจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ทางภาคกลางของอิตาลี เมื่อเดือน ส.ค. 2016

“ยิ่งเหตุแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมากขึ้นเท่าใด การสั่นสะเทือนที่เกิดตามมาในอีกซีกโลกหนึ่งยิ่งมีขนาดหรือแมกนิจูดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มักเกิดเหตุแผ่นดินไหวตามหลังที่รุนแรงเกือบทั้งสิ้น โดยจะเกิดภายในพื้นที่ 30 องศา วัดจากจุดตรงข้ามกับศูนย์กลางแผ่นดินไหวซึ่งเกิดก่อนในอีกซีกโลกหนึ่ง” ดร. โอมัลลีย์กล่าว

อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดถึงสาเหตุและกลไกที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ขึ้น แม้ก่อนหน้านี้จะพบว่าพลังงานจากคลื่นสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสามารถสะท้อนลึกลงไปในชั้นเนื้อโลกหรือแมนเทิล (Mantle) ได้ก็ตาม ตัวอย่างหนึ่งของเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2004 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางนอกชายฝั่งเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย และมีความรุนแรงจนทำให้เปลือกโลกทั้งแผ่นเคลื่อนตัวขึ้นลงช้า ๆ ราว 1 เซนติเมตร และทำให้โลกทั้งใบ “สั่นไหวเหมือนกับตีระฆัง” ส่งผ่านพลังงานซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวตามมาในอีกซีกโลกได้ แต่คลื่นสั่นสะเทือนนี้จะเคลื่อนที่ช้ามากจนมนุษย์ไม่รู้สึกถึงความผิดปกติแต่อย่างใด