เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการแชร์ภาพชุดเปิดสมุดภาพ “ขรัวอินโข่ง” สมุดไทย ร่างภาพลายเส้น ฝีมือขรัวอินโข่งวัดราชบูรณะ จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ
สมุดดังกล่าว มีลักษณะเป็นสมุดข่อย หรือสมุดไทยขาว เป็นกระดาษที่พับไปมาต่อเนื่องกันเป็นเล่ม มีร่องรอยการวาดทับและระบายสีบางส่วน เชื่อว่าน่าจะวาดทับลงไปบนเส้นเดิมโดยช่างรุ่นหลัง ที่เป็นฝีมือของพระอาจารย์อินทร์ (ขรัวอินโข่ง) จะเป็นเส้นดินสอดำและเส้นหมึก เป็นภาพร่างบุคคล ยักษ์ ลิง สัตว์ ลวดลายพันธุ์พฤกษา และสถาปัตยกรรม น่าจะเป็นภาพร่างก่อนที่จะเขียนลงบนพระบฏ หรือฝาผนัง
ข้อมูลจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ระบุว่า พระอธิการวัดพลับพลาชัย เพชรบุรี ผู้เป็นศิษย์ มอบให้หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2453
ขรัว อินโข่ง มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิม ชื่อ อิน เป็นชาวเพชรบุรี เดินทางเข้ามาบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบในกรุงเทพฯ
แม้จะเป็นจิตรกรเอกในสมัยรักชาลที่ 4 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า ขรัวอินโข่ง ร่ำเรียนการเขียนภาพจากใคร และเมื่อใด จึงเชื่อว่าเป็นพรสวรรค์ของท่านเอง รวมถึงการหัดเขียนกับช่างเขียนบางท่านในยุคเดียวกัน
จุดเด่นของผลงานขรัวอินโข่งคือการเขียนแบบผสมผสานอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่เข้ามาในสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเขียนภาพให้มีแสงเงา มีมิติเหมือนธรรมชาติ และมีความคิดสร้างสรรค์ที่ต่างไปจากจิตรกรรมไทยประเพณีในยุคก่อนหน้า
ที่มา – http://www.matichon.co.th/