เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เกษตรกรโคนม วอนรัฐช่วยเร่งแก้ปัญหาราคาน้ำนมดิบ เนื่องจากมีค่าใช้จ่าย ค่าบริหารจัดการฟาร์มเพิ่มขึ้นมาก หวั่น FTA ที่ในปี 2568 อัตราภาษีการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นร้อยละ 0 จะทำลายอาชีพผู้เลี้ยงโคนมไทย ผลจากต้นทุนการผลิตแพง เกษตรกรหมดใจในการทำมาตรฐานฟาร์ม

จากกรณี ชุมชนสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด หรือมิลค์บอร์ด ได้ขอให้มีการปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบที่หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จากเดิม 17.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 19.75 บาทต่อกิโลกรัม และปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโคหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมจาก 19 บาท เป็น 20.50 บาท รวมทั้งยังขอให้มีการชดเชยให้กับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 0.75 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยได้ยื่นเรื่องผ่านกรมปศุสัตว์ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

 

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีเกษตรกรรวมกว่า 24,083 ราย และโคนมจำนวน 43,670 ตัว และได้พูดคุยกับ นายเอกชน ศรีสวัสดิ์ อายุ 50 ปี เกษตรกรชาว ต.หนองโพ อ.โพธาราม เปิดเผยว่า เริ่มทำอาชีพนี้มาตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันมีโคนม รวม 45 ตัว แบ่งเป็นแม่โคท้อง จำนวน 5 ตัว และแม่โครีดนม 15 ตัว สามารถรีดน้ำนมได้วันละประมาณ 120 กิโลกรัม ที่เหลือเป็นโคสาวและลูกโค จำนวน 20 ตัว ซึ่งในแต่ละวันจะมีค่าใช้จ่ายบริหารจัดการฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ายาเวชภัณฑ์ และค่าอาหารสัตว์ต่างๆ แต่ด้วยสถานการณ์ราคาราคาน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุดิบอาหารสัตว์ ตลอดจนราคาของปุ๋ยเคมี และยารักษาสัตว์ที่ทะยอยพากันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนที่ยังไม่รวมค่าแรงงาน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60-70 อาทิ อาหารข้น จากเดิมที่เคยซื้อสูตรโปรตีน 18 น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ราคากระสอบละ 295 บาท ปรับขึ้นมาอีกกระสอบละ 70 บาท เป็น 365 บาท ขณะที่ราคารับซื้อน้ำนมดิบปัจจุบันอยู่ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม

วิธีแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ทำการคัดเลือกโคที่มีปัญหาด้านอัตราการให้นมต่ำ และสุขภาพออก เพื่อลดต้นทุน ซึ่งจากการพูดคุยกับเพื่อนเกษตรกรต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคาน้ำนมดิบที่เป็นอยู่ไม่เพียงพอกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบอย่างน้อยกิโลกรัมละ 3-4 บาท เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกร แม้ว่ามิลค์บอร์ดจะยื่นเรื่องขอให้ปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ตนและเพื่อนเกษตร ทั้งฟาร์มขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางมองเห็นและวิตกกังวลอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่ในปี 2568 อัตราภาษีการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเป็นร้อยละ 0 ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศถูกกว่าราคาน้ำนมดิบของไทย ดังนั้นนอกจากการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบแล้วรัฐบาลควรควบคุมราคาต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือในด้านอื่นเพิ่มขึ้น เพราะหากยังต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ เกษตรกรจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก ยังส่งผลต่ออาชีพเกษตรกรโคนมไทยในอนาคตอีกด้วย

จากรายงานข้อมูลพื้นฐานเดือนพฤษภาคม 2565 ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี ได้ระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมพบว่า เกษตรกรขาดเงินลงทุนในการปรับปรุงคอกสัตว์เพื่อให้เข้าเงื่อนไข และการเข้าสู่มาตรฐาน GFM เป็นภาคสมัครใจ การลงทุนเพิ่มขึ้น แต่เงินตอบแทนเท่าเดิมทำให้เกษตรกรไม่สนใจเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม เกษตรกรไม่มีงบประมาณในการจ้างสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม และไม่มีแหล่งจูงใจในการทำมาตรฐานฟาร์ม เนื่องจากการทำมาตรฐานฟาร์มเป็นการทำแบบภาคสมัครใจ หากค่าตอบแทนไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรต้องลงทุนสูงขึ้น ทำให้ไม่มีใจที่จะปรับเปลี่ยน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง